สถานที่ท่องเที่ยวองค์การบริหารส่วนตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ประวัติความเป็นมาโบราณสถานกู่คันธนาม
ตั้งอยู่ในเขตตำบลยางคำ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณรุ้งที่ ๑๕ องศา ๒๗ ลิปดา ๔๖ ฟิลิปดาเหนือ และแวงที่ ๑๐ องศา ๕๐ ลิปดา ๓๕ ฟิลิปดาตะวันออก
ตั้งอยู่ในบริเวณกลางเนินเดินทรายขนาดใหญ่ มีทางหลวงหมายเข ๒๐๘๖ (สุวรรณภูมิ – ราษีไศล) ผ่านกลางเนินดินทราย กู่คันธนามอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของแนวถนน ปัจจุบันอยู่ติดที่พักสงฆ์กู่คันธนาม เขตที่ดินสาธารณะป่าดงกู่(ป่าดงสภาพ ๕๐ %) โบราณสถานเป็นประเภทอโรยคศาล แต่เดิมมีพระสงฆ์เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณปราสาทก่อสร้างศาสนสถานเป็นที่จำวัดและปฏิบัติศาสนกิจส่วนยอดของปราสาทประธานถูกก่อขึ้นใหม่เพื่อทำเป็นอุโบสถ ซึ่งภายในปราสาทประธานมีร่องรอยการขุดรื้อหาของมีค่า มุขด้านหน้าปราสาทถูกต่อเติมใหม่ เช่นเดียวกับผนังเรือนธาตุ ภายในห้องบรรณาลัยถูกรื้อหาของมีค่า มีชิ้นส่วนหลังคาอาคารหล่นอยู่ภายใน กำแพงล้อมรอบปราสาทตอนบนที่โผล่พ้นดินขึ้นมาถูกก่อใหม่เกือบทั้งหมดยกเว้นทางด้านทิศใต้ที่ยังคงเป็นของเดิม โคปุระทางด้านทิศตะวันออกทรุดพังลงมา สภาพโดยทั่วไปถูกดินกลบทับอยู่ เนื่องจากภายในปราสาทถูกใช้ทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลาจึงถูกปรับพื้นที่ให้เรียบ บริเวณเส้นกำแพงด้านใน มีต้นไม้ใหญ่ประเภทไม้ยาง ไม้เค็ง ทางด้านทิศตะวันตกของปราสาทประธานมีการเคลื่อนย้ายส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่น คาน วงกบประตู ทับหลัง ออกมาวางไว้เพื่อตกแต่งบริเวณหน้ากุฏิเจ้าอาวาส
ข้อความจากศิลาจารึกกู่คันธนาม“โรคทางกายของประชาชนนี้เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง พระองค์พร้อมด้วยแพทย์ทั้งหลาย ผู้แกล้วกล้าและคงแก่เรียนในอายุรเวทและอัสตรเวท ได้ฆ่าศัตรูคือโรคของประชาชนด้วยอาวุธ คือ เภสัช…..พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาล และรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต พร้อมด้วยรูปพระชิโนรส ทั้งสองโดยรอบ เพื่อความสงบแห่งโรคของประชาชนตลอดไป…” |