การแจ้งตาย
ผู้แจ้ง
- คนตายในบ้าน เป็นหน้าที่ของ ผู้เป็นเจ้าบ้านหรือผู้พบเห็นหรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
- คนตายนอกบ้าน เป็นหน้าที่ของ บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพ
- คนตายในต่างประเทศ เป็นหน้าที่ของ บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้รู้เห็นการตาย
กำหนดเวลาการแจ้งตาย
- ต้องแจ้งการตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ
สถานที่แจ้งตาย
๑. คนตายในเขตเทศบาล แจ้งที่สำนักงานทะเบียนซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเทศบาลนั้นเอง
๒. คนตายนอกเขตเทศบาล แจ้งที่ที่ว่าการอำเภอหรือที่สำนักงานทะเบียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง เช่น เขตกรมทหาร
๓. คนตายในกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเขต
๔. คนตายในต่างประเทศ แจ้งต่อสถานกงสุลไทย หรือสถานฑูตไทย ณ ประเทศนั้น ๆ เนื่องจากสถานกงสุลไทย
หรือสถานฑูตไทยเป็นสำนักงานทะเบียนในต่างประเทศ
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
- กรณีคนตายในบ้าน
๑. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหรือผู้แจ้งและผู้ตาย(ถ้ามี)
๒. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ผู้ตายมีชื่ออยู่
๓. หนังสือรับรองการตาย (ถ้าผู้ตายมีผู้รักษาพยาบาลโดยอาชีพ)
๔. กรณีนายทะเบียนสงสัยว่าอาจเป็นการตายด้วยโรคติดต่ออันตราย หรือตายโดยผิดธรรมดา อาจชะลอการออกมรณบัตรไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
- กรณีคนตายนอกบ้าน
๑. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบผู้ตายซึ่งเป็นผู้แจ้งและผู้ตาย (ถ้ามี)
๒. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
๓. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ที่ได้รับมอบหมาย (กรณีมารดาเด็กไม่ได้ไปแจ้งเกิดด้วยตนเอง)
- กรณีตายที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่นอกเขตที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่
๑. ต้องนำหนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งที่โรงพยาบาลตั้งอยู่
เพื่อขอให้ออกใบมรณบัตร
๒. ต้องนำใบมรณบัตรพร้อมด้วยหลักฐานที่จะต้องแสดงกรณีคนตายในบ้านหรือกรณีคนตายนอกบ้านไปแสดง
ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่
ข้อมูลที่ต้องเตรียมไปแสดงเพื่อแจ้งการตาย
๑. ชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ เพศ ของผู้ตาย
๒. ตายเมื่อวัน เดือน ปี ใด
๓. ที่อยู่ของผู้ตายและสถานที่ตาย
๔. สาเหตุที่ตาย
๕. ชื่อตัว ชื่อสกุล และสัญชาติของบิดามารดาผู้ตาย
๖. ศพของผู้ตายจะดำเนินการอย่างไร (เก็บ ฝัง เผา) ที่ไหน เมื่อไร (ถ้ารู้)
ค่าธรรมเนียม
การแจ้งตายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ
การแจ้งตายเกินกำหนด
๑. ผู้แจ้งต้องไปยื่นคำร้องแจ้งการตายต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น พร้อมหลักฐานที่ต้องนำไปแสดงรวมทั้งข้อมูลที่จะต้องทราบเช่นเดียวกับการแจ้งตายภายในกำหนดเวลา
๒. นายทะเบียนดำเนินการสอบพยานหลักฐาน เมื่อเห็นว่าไม่มีเจตนาแอบแฝง นายทะเบียนผู้รับแจ้งจะออกใบมรณบัตรให้โดยหมายเหตุมุมด้านขวาของมรณบัตรด้วยสีแดง "แจ้งการตายเกินกำหนด" และจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านโดยประทับตราว่า "ตาย" สีแดง ไว้หน้าชื่อผู้ตายแล้วคืนสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านหรือผู้แจ้ง
โทษของการไม่แจ้งตาย
การไม่แจ้งตายภายในกำหนดเวลามีความผิด และมีโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท
เอกสารอ้างอิง คู่มือกฎหมายเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของประชาชน สำนักงานคุ้มครองสิทธิ
และช่วยเหลือทางกฎหมาย (สคช) สำนักงานอัยการสูงสุด. |